ถ้าพูดถึง “การวางแผนมรดก” สำหรับบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องของคนรวยที่มีทรัพย์สินมากๆ เท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วการวางแผนมรดกเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้และไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว และเป็นคนหนึ่งที่ยังต้องพึ่งพาแหล่งรายได้จากการทำงานเพื่อนำมาใช้จ่ายเลี้ยงตัวเองและคนในครอบครัว แล้วคุณเคยคิดถึงอนาคตหรือไม่ถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นกับตัวเองก่อนวัยอันควร เงินเก็บในบัญชีรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะเพียงพอให้บุคคลอันเป็นที่รักของคุณได้ดำรงชีวิตต่อไปหรือไม่ยิ่งถ้าในวันที่คุณจากไปแล้วยังมีภาระหนี้สิน เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้ธุรกิจที่คุณตั้งใจทำงานและผ่อนเพื่อสร้างให้เป็นทรัพย์สินในอนาคตนั้น จะกลายเป็นภาระให้คนข้างหลัง หรือจะเป็นมรดกตกสู่ทายาทกันแน่ ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยขอเสนอตัวช่วยสำหรับการวางแผนมรดก
ทำให้สิ่งที่คุณตั้งใจสะสมไว้เป็นมรดกตกสู่ทายาทอย่างแน่นอน หรือการเพิ่มมูลค่าเงินก้อนเล็กให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยผ่าน “ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ ประเภทต่างๆ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตประเภทคุ้มครองชีวิตตลอดชีพ ซึ่งในแบบประกันตลอดชีพนั้น อัตราเบี้ยประกันภัยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการได้รับความคุ้มครองหรือจำนวนเงินเอาประกันภัยสูง เหมาะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารความเสี่ยงและวางแผนทางการเงิน พร้อมสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคตให้แก่ตัวเองและครอบครัว โดยที่คุณสามารถกำหนดมูลค่ามรดกและกำหนดผู้รับประโยชน์ได้เอง ซึ่งผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลใดก็ได้ เช่น ทายาท คู่สมรส บุพการี พี่น้อง หรือองค์กรการกุศล เป็นต้น หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับคุณก่อนเวลาอันควรจะมั่นใจได้ว่าคนที่คุณรักและห่วงใยจะสามารถอยู่ต่อไปได้อย่างไม่ลำบาก มีสภาพคล่องทางการเงิน มีทุนการศึกษาให้ลูก มีทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ กรณีที่คุณมีภาระกับสถาบันการเงิน หากคุณมีประกันคุ้มครองสินเชื่อที่ครอบคลุมหนี้สินจำนวนดังกล่าว หนี้สินนั้นก็ถูกปลดภาระทรัพย์สินที่คุณเพียรสร้างก็จะตกเป็นของทายาท
นอกจากการสร้างมรดกไว้ให้ทายาทแล้ว ในส่วนของผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาทไว้ให้ทายาทแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า มูลค่ามรดกที่เกินกว่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะต้องแบกรับภาระทางภาษีที่เรียกว่า “ภาษีการรับมรดก” ไปด้วย ซึ่งมรดกที่ต้องเสียภาษี มีดังนี้ อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน อาคาร คอนโดมิเนียมหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งตราสารหนี้ และตราสารทุน คือ หุ้น หุ้นกู้ใบสำคัญแสดงสิทธิ กองทุนรวม ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ เงินฝากหรือเงินที่มีลักษณะเดียวกันให้ถือเอามูลค่าของเงินนั้น
รวมทั้งดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นในวันที่ได้รับมรดก หากเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องคำนวณเป็นเงินไทย
รวมถึงยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ และพาหนะอื่นๆ ที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นชื่อบุคคลได้ และทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
โดยผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีการรับมรดกสำหรับส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นผู้สืบสันดานหรือเป็นบุพการี หากทรัพย์มรดกเกิน 100 ล้านบาท
จะต้องเสียภาษีส่วนที่เกินจาก 100 ล้านบาท 5% แต่ถ้าในกรณีที่ผู้รับมรดกไม่ใช่ผู้สืบสันดาน และไม่ใช่บุพการี หากทรัพย์มรดกเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีส่วนที่เกินมา 10% ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีมรดก สำหรับผู้รับมรดกที่เป็นผู้สืบสันดานหรือเป็นบุพการี โดยใช้สูตร ดังนี้ (มูลค่ามรดกสุทธิที่ได้รับ – 100 ล้านบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษี) x 5% เช่น นาย ก. ได้รับมรดกจากบิดา มีมูลค่ารวม 150 ล้านบาท (150 – 100) x 5% ภาษีที่ต้องจ่ายคือ 2.5 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะดีกว่าไหมถ้าการให้มรดกกับคนที่คุณรักแล้วเขาไม่ต้องมาแบกรับเรื่องภาษีการรับมรดกนี้ไปด้วย เพียงคุณเลือกวางแผนมรดกผ่าน “ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต” โดยทำทุนประกันภัยให้ครอบคลุม
หรือมากกว่าภาษีมรดกที่ทายาทต้องจ่าย
เพื่อให้ทายาทนำเงินจากสินไหมประกันชีวิตนี้ไปใช้ในการบรรเทาภาระทางภาษี การรับมรดกอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เท่ากับช่วยลดภาระหรือปัญหาการหาเงินสดมาชำระภาษี
เนื่องจากเงินสินไหมจากประกันชีวิตไม่ต้องผ่านขั้นตอนการร้องศาลหรือรอการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจึงเป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์สามารถรับได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง เนื่องจาก“เงินที่ได้รับจากกรมธรรม์ประกันชีวิต” คือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในขณะหรือในภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย
จำนวนเงินสินไหมที่ได้รับจะไม่ถูกจัดเป็นทรัพย์มรดก ที่เจ้าของมรดกมีอยู่ก่อนจะเสียชีวิตเงินสินไหมนี้จึงไม่ต้องรวมเข้ากับกองมรดก และ “ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก”
ทั้งนี้ การส่งมอบสินไหมให้ทายาทนั้นยังสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระบวนการจ่ายเงินสินไหมมรณกรรมให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
โดยผู้รับประโยชน์จะต้องดำเนินการแจ้งบริษัทประกันชีวิตให้ทราบภายใน 14 วัน
นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบถึงการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน และข้อดีอีกข้อแต่เป็นข้อดีสำหรับผู้เอาประกันชีวิตเองคือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง เรียกว่าข้อดีมากมีขนาดนี้อย่าลืมเก็บผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนมรดกของคุณกันนะคะ