หลายต่อหลายคนมักจะมีความเข้าใจผิดคิดว่าการประกันชีวิตกับการประกันภัย (ประกันวินาศภัย) เป็นเรื่องเดียวกันมีความคุ้มครองเหมือนกัน แต่ในความจริงแล้วมีข้อแตกต่างกันอยู่มากพอสมควร ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นจึงขอสรุปให้เห็นถึงความแตกต่างเพื่อความชัดเจนขึ้นค่ะ
อันดับแรกที่ว่าด้วยเรื่องภัยจากความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับประกันชีวิตนั้นจะเป็นความเสียหายที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะทุกคนเกิดมาแล้ววันหนึ่งก็ต้องเสียชีวิต ซึ่งในขอบข่ายของสัญญาประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตรวมไปถึงการสูญเสียอวัยวะและการสูญเสียรายได้ยามชรา โดยบริษัทจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง (ทุนประกันชีวิต) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยจากการทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง ส่วนระยะเวลาที่เอาประกันภัยก็จะเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ อาจเป็น 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีพก็ได้ ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายจะพิจารณาจากเพศ อายุ อาชีพ ระดับรายได้ สุขภาพ ส่วนเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระในแต่ละปีนั้นจะเท่ากันตลอดระยะเวลาของสัญญา ซึ่งบริษัทจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง (ทุนประกันชีวิต) ให้แก่ผู้เอาประกันภัยจากการทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งให้กับผู้รับประโยชน์หรือทายาท โดยไม่อาจเรียกรับค่าชดใช้จากความเสียหายจากบุคคลอื่นได้ และยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อีกด้วย โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เริ่มตั้งแต่ปี 2552 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และเบี้ยประกันสุขภาพที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชน โดยประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้เบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์แบบบำนาญ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มจากเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15%ของเงินได้พึงประเมินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญตั้งแต่ปีภาษี 2553 โดยเมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ส่วนประกันภัยหรือประกันวินาศภัยนั้น เป็นการประกันความสูญเสียและเสียหายของทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน ที่อยู่-อาศัย สำนักงาน หรือโรงงานฯ ซึ่งภัยนั้นอาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้และอาจเกิดเพียงบางส่วนก็ได้ โดยบริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดภัยตามความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่เกินทุนประกันภัยที่ทำ ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่อาจได้กำไรจากการทำประกันวินาศภัย แต่จะได้รับการชดใช้เป็นตัวเงิน หรือการซ่อมแซม หาของทดแทน (เปลี่ยนให้) ทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นบริษัทประกันวินาศภัยอาจเรียกค่าเสียหายจากบุคคลอื่นที่เป็นผู้ก่อความเสียหายได้ หลังจากจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว
นอกจากนี้ความคุ้มครองยังจำกัดเวลาสั้นๆ เพียงคราวละ 1 ปี หากประสงค์จะเอาประกันต่อไป ก็จะต้องต่อสัญญาเป็นปีไป ส่วนเบี้ยประกันวินาศภัยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อสัญญากรมธรรม์หรือตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป และเบี้ยประกันภัยอาจลดลงได้ในกรณีที่ไม่เกิดความเสียหาย เบี้ยประกันวินาศภัยจึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันและภัยที่รับเสี่ยง และไม่สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก่อนทำประกันชีวิตหรือทำประกันภัยก็ควรศึกษารายละเอียด เพื่อที่จะสามารถเลือกซื้อเลือกสรรให้เหมาะและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง